ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เรื่อง การหลีกเลี่ยงนิติกรรมการห้ามโอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3345/2525 ที่นาพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ออกให้แก่ ค. มีข้อความว่าห้ามโอนสิบปีตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 6 การที่ ค. ผู้ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในที่นาพิพาทอันสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา 30 และมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้ทำสัญญาจะซื้อขายขึ้นในระหว่างระยะเวลาการห้ามโอนจะขายที่นาพิพาทให้แก่ อ. เป็นเงิน30,000 บาท และได้รับเงินกับได้มอบที่นาพิพาทให้ อ.เข้าครอบครองทำกินแล้ว เพียงแต่ตกลงจะจดทะเบียนการโอนให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา การห้ามโอนสิบปี ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามการโอน ตามมาตรา 31 ดังนี้ย่อมเป็นการอันมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมาย หนังสือสัญญาจะซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (ปัจจุบันคือ มาตรา 150)
แม้ต่อมาประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ซึ่งห้ามการโอนจะได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมอันมีผลมิให้ใช้บังคับข้อห้ามการโอนในกรณีดังเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็หาทำให้สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวซึ่งเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก กลับมีผลสมบูรณ์ขึ้นไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2537 การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามผู้มีสิทธิในที่ดินโอนที่ดินไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เป็นต้นไปในระหว่างระยะเวลาห้ามโอน และมีข้อตกลงกันว่าจะไปจดทะเบียนเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน หากมิได้มีการส่งมอบการครอบครองภายในระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าวอาจถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามการโอนตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 31 อันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ซึ่งตกเป็นโมฆะเมื่อยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดว่า ได้มีการส่งมอบการครอบครองที่ดินหรือโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินนั้นในระยะเวลาห้ามโอนแล้วหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า นิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามอย่างชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะ พิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2538 ขณะที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันนั้นยังอยู่ในระยะเวลาการห้ามโอนตามกฎหมายนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนต่อกฎหมายและในกำหนดเวลาห้ามโอนนี้ย่อมไม่อาจส่งมอบการครอบครองแก่กันได้การส่งมอบการครอบครองในระยะเวลาการห้ามโอนตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเช่นกันดังนี้แม้จะฟังว่าจำเลยส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ก็ไม่ได้ครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2539 ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีข้อกำหนดห้ามโอนสิบปีนับแต่วันที่ 25สิงหาคม 2520สัญญาขายฝากทำกันเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2523 จึงอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 เดิม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยทำสัญญาและมอบให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่ เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอน หลังจากนั้นต่อมาเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้ว แม้โจทก์จะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้สละสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด กลับได้ความว่าโจทก์ได้ให้เงินจำเลยทั้งสองไปชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ทุกปีและมิได้ขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ถือไม่ได้ว่าภายหลังพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วจำเลยทั้งสองสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1136/2540 จำเลยได้ขายที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ให้ผู้ร้องและ ส. โดยทำสัญญาซื้อขายกันเอง ต่อมาทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่พิพาทให้จำเลย โดยมีข้อกำหนดห้ามโอน10ปี ในวันเดียวกันนั้นจำเลยจดทะเบียนจำนองที่พิพาทกับผู้ร้องและส. และได้ส่งมอบการครอบครองที่พิพาทให้ผู้ร้องและ ส. ตั้งแต่วันจดทะเบียนจำนองการที่จำเลยกับผู้ร้องมีเจตนาจะผูกพันกันตามสัญญาซื้อขาย แต่เมื่อปรากฏว่าในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอนเป็นเวลา10ปี ผู้ร้องและส.ไม่สามารถจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทกันได้ จึงได้ทำจำนองในวงเงินเท่ากับราคาซื้อขายกันไว้โดยจำเลยได้ให้คำมั่นที่จะขายที่พิพาทให้เมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอน ตามพฤติการณ์จึงชี้ให้เห็นว่าสัญญาจำนองเป็นเพียงนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายโดยคู่สัญญาไม่มีเจตนาผูกพันกันในเรื่องจำนอง สัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะแต่เนื่องจากทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องและส. จึงตกเป็นโมฆะไปด้วย ผู้ร้องจึงมิได้มีสิทธิใดๆ ในที่พิพาท และแม้ผู้ร้องยังคงครอบครองที่พิพาทอยู่เมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยผู้เป็นเจ้าของเดิมจำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทและโจทก์ย่อมมีสิทธินำยึดที่พิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2542 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินที่พิพาทให้แก่ ค. ในระยะเวลาห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามกฎหมาย แม้ตามสัญญาซื้อขายจะมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 พร้อมจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อในเมื่อผู้ซื้อ เรียกร้องได้ทุกเวลา และมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่ผู้ซื้อแล้วก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่าง ค. กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ที่จะโอนสิทธิครอบครอง ในที่ดินดังกล่าวพร้อมหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดิน นั้น (น.ส.3 ก.) ให้แก่กัน ข้อความดังกล่าวระบุไว้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอน นิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามคำฟ้องระหว่าง ค. กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ย่อมไม่มี ผลบังคับ จึงต้องถือว่า ค. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดเวลา แม้ ค. จะครอบครองที่ดินดังกล่าวมานานเพียงใด ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ดังนั้น แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาท จาก ค. และรับโอนการครอบครองที่ดินดังกล่าวมาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี ที่กฎหมายห้ามโอนแล้วก็ตาม แต่เมื่อ ค. ผู้โอนไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น โจทก์ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่าสิทธิที่ ค. ผู้โอนมีอยู่ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตามคำฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4542/2542 บ.ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนแล้วต่อมาทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ โจทก์ผู้รับโอนที่ดินจาก บ. ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนจะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่เพียงใดเมื่อครบกำหนดห้ามโอนแล้วนั้น ต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ยึดถือ ที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือไม่ โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่ซื้อจาก บ. ตลอดมาแม้ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนโจทก์จะยังไม่ได้ สิทธิครอบครอง เนื่องจากถูกจำกัดโดยบทบัญญัติ มาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่เมื่อโจทก์ยังครอบครองที่ดินพิพาท ตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็นเวลานานถึง 10 ปีเศษและเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของโจทก์ตลอดมา โดยไม่มีผู้อื่นเข้าไปยุ่งเกี่ยวแย่งการครอบครอง การครอบครองที่ดินพิพาท ของโจทก์จึงเป็นการยึดถือที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนโจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367
ข้อสังเกต
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้ว อาจใช้วิธีการตามมาตรา 1381 คือ บอกกล่าวไปยังผู้ขายเดิมว่าต่อไปนี้ ไม่ยึดถือแทน แต่จะยึดถือเพื่อตน ยึดถือเป็นเจ้าของเป็นการเปลี่ยนลักษณะของการยึดถือจากการครอบครองแทน เป็นการครอบครองเพื่อตนแล้ว นับแต่นั้นต่อไปผู้ซื้อตามนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะก็ได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1367 คือ ยึดถือที่ดินโดยเจตนายึดถือเพื่อตน