ดอกผลธรรมดา
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง
มีองค์ประกอบ 2 ประการ ดังนี้
1. ต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากแม่ทรัพย์ ได้มาจากตัวทรัพย์โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม
หมายความว่า จะต้องเป็นสิ่งที่งอกเงยเพิ่มพูนออกจากตัวแม่ทรัพย์เองโดยธรรมชาติ และทรัพย์ที่จะเป็นดอกผลธรรมดาจะต้องเป็นทรัพย์ตามมาตรา 137 และมาตรา 138 และจะต้องเป็นสังหาริมทรัพย์
ส่วนแม่ทรัพย์จะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้
ทรัพย์ที่เป็นดอกผลธรรมดาจะต้องเพิ่มพูนงอกเงยจากแม่ทรัพย์ ซึ่งต่างกับส่วนควบหรืออุปกรณ์ซึ่งมีหรือเกิดขึ้นมาก่อนแล้วจึงนำมาเกี่ยวข้องกับแม่ทรัพย์
เช่น ลูกสัตว์เป็นดอกผลธรรมดาของสัตว์, ไข่ไก่เป็นดอกผลธรรมดาของแม่ไก่, มะม่วงเป็นดอกผลธรรมดาของต้นมะม่วง, น้ำยางเป็นดอกผลธรรมดาของยาพารา เป็นต้น
ถ้าเป็นทรัพย์ที่คนทำให้เกิดขึ้น ก็ไม่ใช่ดอกผลธรรมดา เช่น ข้าวในนาเกิดขึ้นโดยคนปลูกย่อมไม่ใช่ดอกผลของนา แต่รวงข้าวเป็นดอกผลธรรมดาของต้นข้าว
2. สามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น
หมายความว่า เมื่อแยกออกจากตัวแม่ทรัพย์แล้ว แม่ทรัพย์ยังคงมีลักษณะเป็นแม่ทรัพย์อยู่อย่างเดิม ไม่เสียหาย ไม่เสียสภาพ และไม่ผิดแผกแตกต่างไปแต่อย่างใด จะเป็นการขาดจากกันโดยธรรมชาติหรือขาดจากกันโดยแรงกระทำก็ได้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
ฎีกาที่ 370/2506 ลูกสุกรเกิดจากสุกรพ่อและสุกรแม่ซึ่งเลี้ยงไว้ในระหว่างเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่แต่เกิดเมื่อเจ้ามรดกตายแล้วลูกสุกรและเงินที่ขายลูกสุกรได้ก็เป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับภรรยาส่วนของเจ้ามรดกตกเป็นมรดก ทายาทมีส่วนแบ่งในสุกรพ่อและสุกรแม่อย่างไรก็มีส่วนแบ่งในลูกสุกรหรือเงินที่ขายได้อย่างนั้น
ฎีกาที่ 3348/2529 แม้ที่ดินเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันอันไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีแต่เมื่อจำเลยเข้าครอบครองหวงกันจากการใช้สอยของบุคคลอื่นแล้วในระหว่างราษฎรด้วยกันจำเลยย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่นเมื่อจำเลยปลูกไม้ยืนต้นลงในที่ดินที่ครอบครองดังกล่าวและเก็บเกี่ยวดอกผลตลอดมาดอกผลของไม้ยืนต้นนั้นจึงเป็นของจำเลยอันอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีโจทก์มีสิทธิยึดดอกผลธรรมดาของไม้ยืนต้นดังกล่าวได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่7/2529)
ฎีกาที่ 1535/2493 (ประชุมใหญ่) ดอกผลธรรมดานั้น หมายถึง บรรดาสิ่งทั้งปวงซึ่งได้มาเพราะใช้ของนั้น อันเกิดโดยธรรมชาติของมันดังเช่น ผลไม้ น้ำนม ขน และลูกของสัตว์ ส่วนต้นข้าวที่ทำได้จากนานั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ต้นข้าวเกิดขึ้นจากแรงงานไม่ใช่ดอกผลของนา ฉะนั้นข้าวเปลือกก็ไม่ใช่ดอกผลของนาเช่นเดียวกัน ฟ้องเรียกข้าวฐานเป็นดอกผลธรรมดา เมื่อวินิจฉัยว่าข้าวไม่ใช่ดอกผลธรรมดาโจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งแล้ว จะเปลี่ยนเป็นให้แบ่งค่าเช่านาอันเป็นดอกผลนิตินัยแก่โจทก์ย่อมไม่ได้ เพราะนอกฟ้องนอกประเด็น