Chalita and Associates Lawyer Office v1.4.3
083-691-4990
line@lawyerbefair
lawyerbefair@gmail.com
line@lawyerbefair
083-691-4990
โดย ทนายชลิตา หนูพลัด

ป.พ.พ.มาตรา 4 - 14

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

           มาตรา 4 อันกฎหมายนั้น ท่านว่าต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ

           เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าและไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ท่านให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนี้ก็ไม่มีด้วยไซร้ ท่านให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป


           มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ท่านว่าบุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต


            มาตรา 6 ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต


           มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และดอกเบี้ยนั้นมิได้กำหนดอัตราไว้โดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันใดอันหนึ่งชัดแจ้งไซร้ ท่านให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี


           มาตรา 8 คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี ไม่มีใครจะป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะเช่นนั้น


           มาตรา 9 เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือไซร้ท่านว่าบุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น

           ถ้าบุคคลผู้ใดใช้ตราประทับแทนลงลายมือชื่ออยู่เป็นปกติ การประทับตราเช่นนั้น ท่านว่าเสมอกับลงลายมือชื่อ                  

           ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงใด ฤาเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นก็ดี ทำลงในเอกสาร หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว ท่านว่าเสมอกับลงลายมือชื่อ


           มาตรา 10 เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้เป็นสองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ท่านให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล


           มาตรา 11 ในกรณีที่มีข้อสงสัย ท่านให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น


           มาตรา 12 ลงจำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารด้วยตัวอักษรและตัวเลข ถ้าตัวอักษรกับเลขทั้งสองอย่างนั้นไม่ตรงกัน และศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ไซร้ ให้ฟังเอาจำนวนเงินหรือปริมาณซึ่งเขียนเป็นตัวอักษรนั้นเป็นประมาณ


            มาตรา 13 ถ้าจำนวนเงินหรือปริมาณได้แสดงไว้เปนตัวอักษรหลายแห่ง ฤาตัวเลขหลายแห่ง แต่ที่แสดงไว้หลายแห่งนั้นไม่ตรงกัน และศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ไซร้ ให้ฟังเอาจำนวนเงินหรือปริมาณน้อยที่สุดเป็นประมาณ


           มาตรา 14 ถ้าเอกสารทำขึ้นไว้เป็นสองภาษา เป็นภาษาไทยภาษาหนึ่งภาษาอื่นภาษาหนึ่ง แต่ข้อความในสองภาษานั้นแตกต่างกัน และศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะให้ใช้ภาษาใดบังคับไซร้ ท่านถือเอาภาษาไทยบังคับ