Chalita and Associates Lawyer Office v1.4.3
083-691-4990
line@lawyerbefair
lawyerbefair@gmail.com
line@lawyerbefair
083-691-4990
โดย ทนายชลิตา หนูพลัด

คู่ความมรณะและคำสั่งศาล ในกรณีขอเข้าแทนที่คู่ความมรณะ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 42 , มาตรา 43 และมาตรา 44

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

        มาตรา 42 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ โดยมีคำขอเข้ามาเอง หรือโดยที่ศาลหมายเรียกให้เข้ามา เนื่องจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว คำขอเช่นว่านี้จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ

        ถ้าไม่มีคำขอของบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หรือไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียจากสารบบความ”

 

การเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ

1. คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมรณะ ในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล ก่อนศาลพิพากษา

 1) “คู่ความ”

หมายถึง เฉพาะบุคคลธรรมดาที่เป็น “ตัวความ” ได้แก่ โจทก์ จำเลย ผู้ร้อง ผู้คัดค้าน หรือบุคคลที่เข้ามาในคดีโดยการร้องสอดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 และเฉพาะตัวความเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้มีสิทธิกระทำการแทน ผู้รับมอบอำนาจ หรือทนายความ

2) “คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล”

หมายถึง คดีที่ยังไม่เสร็จไปจากศาลอย่างเด็ดขาด ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดก็ได้ก่อนที่คดีนั้นจะถึงที่สุด รวมถึงคดีที่อยู่ในระหว่างช่วงเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกา และคดีที่เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำพิพากษาแล้วซึ่งศาลจำต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นอีก เช่น ในชั้นขอพิจารณาคดีใหม่, ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา หรือชั้นที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการบังคับคดี 

นอกจากนี้ คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล จะต้องเป็นคดีแพ่งที่ขอให้รับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามหรือเพื่อการใช้สิทธิหรือหน้าที่ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของคู่ความฝ่ายที่มรณะที่ตกทอดยังทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599, มาตรา 1600 ด้วย มิฉะนั้น ก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 42 เพราะหากไม่ใช่สิทธิหรือหน้าที่ที่ตกทอดแก่ทายาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิทธิหน้าที่เฉพาะตัวผู้ตายโดยแท้ และศาลชอบที่จะจำหน่ายคดีเสียได้โดยไม่ต้องรอให้พ้นกำหนดหนึ่งปี (คำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 1810/2554 , ฎีกาที่ 6306/2554) ส่วนในบางคดีที่มีหลายข้อหาและคำขอบังคับหลายข้อ การพิจารณาให้เข้าเป็นคู่ความแทนผู้มรณะจะต้องพิจารณาแต่ละข้อหา (ฎีกาที่ 5485-5486/2537 , ฎีกาที่ 1180/2538)

        สิทธิเฉพาะตัวของคู่ความ เช่น การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าผู้ร้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร, สิทธิอาศัย, การปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดก, การเป็นผู้พิทักษ์ของคนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น

        คู่ความมรณะในระหว่างกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกา กล่าวคือ ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ หรือก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกา ถือว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะและมีคำสั่งเกี่ยวกับการจัดหาผู้เข้าแทนที่คู่ความมรณะตามมาตรา 42 ได้ (ฎีกาที่ 4254/2559)  

3) “ก่อนศาลพิพากษา”

หมายถึง ความมรณะปรากฏต่อศาลก่อนมีคำพิพากษาของชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี เนื่องจาก หากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมรณะก่อนศาลพิพากษา จะทำให้คู่ความฝ่ายนั้นไม่มีสภาพเป็นบุคคลอยู่โดยครบถ้วน และมีผลให้ทนายความที่คู่ความได้แต่งตั้งหมดอำนาจลง จึงจำเป็นต้องหาผู้ที่จะเข้ามาแทนที่คู่ความที่มรณะเพื่อให้มีคู่ความครบถ้วนจึงจะดำเนินการต่อไปได้

        แม้คู่ความจะมรณะแล้ว แต่การแต่งตั้งทนายให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 เป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน แม้ตัวความซึ่งเป็นตัวการ ถึงแก่ความตายไปจะเป็นผลให้สัญญาตัวแทนระงับไป แต่ทนายความก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักษ์รักษาผลประโยชน์ของตัวความต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวความจะเข้ามาปกปักษ์รักษาประโยชน์ของตัวความได้ อำนาจทนายความหาหมดสิ้นไปทันทีเมื่อตัวความถึงแก่ความตายไม่ ทนายความจึงมีอำนาจลงนามในฐานะทนายของตัวความในอุทธรณ์แทนตัวความได้ (ฎีกาที่ 789/2550)

 

2. วิธีที่จะเข้ามาแทนที่คู่ความมรณะ 

        1) ทายาทของผู้มรณะ หรือผู้จัดการมรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดก “ยื่นคำขอเข้ามาเอง”

        ต้องยื่นภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ

        “ทายาทของผู้มรณะ” หมายถึง เฉพาะทายาทที่อยู่ในลำดับมีสิทธิได้รับมรดกของผู้มรณะ และการเข้ามาในคดีแทนที่ผู้มรณะ ต้องไม่ทำให้คดีกลายเป็นคดีอุทลุม (ฎีกาที่ 1551/2499 , ฎีกาที่ 2139/2527)

        “ผู้จัดการมรดกของผู้มรณะ” หมายถึง ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมหรือคำสั่งศาล ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1711

        “บุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกของผู้มรณะ” หมายถึง บุคคลภายนอกแม้ไม่ใช่ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดก แต่หากปกครองทรัพย์มรดกของคู่ความที่มรณะอยู่ ก็อาจถูกเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้

        การขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะ เป็นสิทธิเฉพาะตัว ของผู้ร้องขอ เมื่อผู้ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ฯ มรณะหลังจากที่ยื่นคำร้องขอแล้ว จะมีการร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องซึ่งมรณะอีกไม่ได้ (ฎีกาที่ 7997/2547)

2) “ศาลหมายเรียกเข้ามา” เนื่องจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว

        ต้องยื่นภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ

        ศาลจะหมายเรียกทายาทของผู้มรณะ หรือผู้จัดการมรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดก เข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ

        แต่จะหมายเรียกทายาทของทายาท ทายาทของผู้จัดการมรดก หรือทายาทของผู้ปกครองทรัพย์มรดกของผู้มรณะ มาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะไม่ได้(ฎีกาที่ 5153/2546)


กรณีไม่มีคำขอ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คู่ความนั้นมรณะ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 42 วรรคท้าย

        ไม่ว่าจะเป็นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ โดยทายาทของผู้มรณะ ผู้จัดการมรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกของผู้มรณะ หรือกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียวให้ศาลมีหมายเรียกบุคคลใดเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คู่ความนั้นมรณะ ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียออกจากสารบบความ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 42 วรรคท้าย

 

3. เมื่อความปรากฏแก่ศาลว่า คู่ความมรณะ ศาลจะต้องดำเนินการอย่างไร

        ในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล หากความปรากฏต่อศาลว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมรณะก่อนที่ศาลมีคำพิพากษา ศาลต้องเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะ หรือผู้จัดการมรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรกดไว้ ได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ จะทำการนั่งพิจารณาต่อไปไม่ได้ แต่หากคู่ความมรณะภายหลังจากที่ศาลพิพากษาแล้ว ก็ไม่มีกรณีที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณา

ส่วนและกรณีที่คดีที่ค้างพิจารณาไม่อาจรับมรดกความได้เนื่องจากเป็นสิทธิหรือหน้าที่เฉพาะตัว เป็นการเฉพาะตัว ของคู่ความ ศาลไม่ต้องเลื่อนการนั่งพิจารณา ชอบที่จะจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ (คำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 313/2554)

        “การนั่งพิจารณา” หมายความว่า การที่ศาลออกนั่งพิจารณาเกี่ยวกับคดี เช่น ชี้สองสถาน, สืบพยาน, ไต่สวนคำร้อง ฟังคำขอต่างๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา แต่การสั่งคำร้อง คำขอ คำแถลง โดยไม่ได้ออกนั่งพิจารณา ไม่ถือว่าเป็นการนั่งพิจารณา ศาลย่อมกระทำได้  

ส่วนในกรณีที่ความมรณะไม่ปรากฏแก่ศาล หากเป็นในขั้นตอนการอ่านคำพิพากษาของศาลสูง ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาโดยความไม่ปรากฏต่อศาลว่าคู่ความบางฝ่ายมรณะ การอ่านคำพิพากษาก็ชอบ และคำพิพากษามีผลผูกพันคู่ความ (ฎีกาที่ 979/2514 , ฎีกาที่ 742-743/2489 , ฎีกาที่ 6209-6210/2557) เพราะ มาตรา 42 มิได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบุคคลใดที่จะต้องแถลงให้ศาลทราบถึงความมรณะของคู่ความในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล เพียงแต่บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณาไป ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่า คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี แสดงว่า ความมรณะของคู่ความจะต้องปรากฏแก่ศาลที่คดีนี้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หากความมรณะไม่ปรากฏแก่ศาลก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาหรือมีกรณีที่ศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา 42 คดีนั้นก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามบทกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้กระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการภายหลังจากนั้นเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบ หรือมีผลให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลที่ได้ดำเนินการไปแล้วโดยชอบเสียไป(ฎีกาที่ 7065/2558)

 

4. คำสั่งของศาล ในกรณีมีคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะ หรือกรณีที่ศาลหมายเรียกเข้ามาแทนคู่ความรณะ

1) กรณี “มีคำขอเข้ามาเอง”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

        มาตรา 43 บัญญัติว่า “ถ้าทายาทของผู้มรณะ หรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกประสงค์จะขอเข้ามาเป็นคู่ความแทน ก็ให้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลเพื่อการนั้น

        ในกรณีเช่นนี้ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ศาลอาจสั่งให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนนั้น แสดงพยานหลักฐานสนับสนุนคำขอเช่นว่านั้นได้ เมื่อได้แสดงพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทน”

= ศาลมีคำสั่ง อนุญาต หรือ ไม่อนุญาต

เฉพาะกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้แสดงพยานหลักฐาน ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่ที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทน แสดงพยานหลักฐานสนับสนุนคำร้องขอเข้าแทนที่คู่ความมรณะได้ แต่ถ้าไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ผู้ร้องแสดงพยานหลักฐาน ศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องขอเข้าแทนที่คู่ความมรณะได้เลยโดยไม่ต้องไต่สวนคำร้องก่อน

ส่วนในกรณีที่ทายาทของผู้มรณะ หรือผู้จัดการมรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดก เข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณาแทนคู่ความมรณะโดยไม่มีการยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ ศาลมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะก่อนแล้วดำเนินคดีต่อไปได้โดยไม่ต้องให้ยื่นคำขออีก(คำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 1226/2550)

คำสั่ง “อนุญาต” ให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะ ถือเป็นดุลพินิจศาล และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในระหว่างพิจารณา จะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่อได้โต้แย้งไว้ตามมาตรา 226(1)(2) และต้องอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี (ฎีกาที่ 1018-1019/2502)

        คำสั่ง “ไม่อนุญาต” หรือ “จำหน่ายคำร้องขอ” ให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะ ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ผู้ร้องสามารถอุทธรณ์ได้ทันทีโดยไม่ต้องโต้แย้งตามมาตรา 226(2) (ฎีกาที่ 1423/2536)

2) กรณี “ศาลหมายเรียก”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

        มาตรา 44 บัญญัติว่า “คำสั่งให้หมายเรียกบุคคลใดเข้ามาแทนผู้มรณะนั้น จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้บุคคลนั้นมีโอกาสคัดค้านในศาลว่าตนมิได้เป็นทายาทของผู้มรณะ หรือมิได้เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกนั้น

        ทายาท ผู้จัดการมรดก หรือบุคคลผู้ถูกเรียกไม่จำต้องปฏิบัติตามหมายเช่นว่านั้นก่อนระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อยอมรับฐานะนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว

        ถ้าบุคคลที่ถูกศาลหมายเรียกนั้น ยินยอมรับเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ ให้ศาลจดรายงานพิสดารไว้และดำเนินคดีต่อไป  

        ถ้าบุคคลนั้นไม่ยินยอมหรือไม่มาศาล ให้ศาลทำการไต่สวนตามที่เห็นสมควร ถ้าศาลเห็นว่าหมายเรียกนั้นมีเหตุผลฟังได้ ก็ให้ออกคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทนผู้มรณะแล้วดำเนินคดีต่อไป ถ้าศาลเห็นว่าข้อคัดค้านของบุคคลผู้ถูกเรียกมีเหตุผลฟังได้ ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนหมายเรียกนั้นเสีย และถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถเรียกทายาทอันแท้จริง หรือผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกของผู้มรณะเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะได้ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี ก็ให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”


การขอหมายเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนคู่ความมรณะ

1) ในการหมายเรียกให้บุคคลใดเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะ ศาลต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้บุคคลนั้นมีโอกาสคัดค้าน ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 44 วรรคหนึ่ง

        2) ผู้ที่ถูกหมายเรียก มีสิทธิไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกก่อนระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อการยอมรับฐานะนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 44 วรรคสอง

 

คำสั่งศาลกรณีที่ศาลหมายเรียกบุคคลใดให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนคู่ความมรณะ

        1) ถ้าบุคคลที่ถูกหมายเรียก ยินยอมรับเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ ให้ศาลจดรายงานพิสดาร(รายงานกระบวนพิจารณา) ไว้และดำเนินการต่อไป ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 44 วรรคสาม

        2) กรณีที่ผู้ถูกหมายเรียก ไม่ยินยอมเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ ให้ศาลทำการไต่สวนตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 44 วรรคสี่

  • ถ้าศาลเหตุว่า หมายเรียกนั้นมีเหตุผลฟังได้ ก็ให้ออกคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกหมายเรียกเป็นคู่ความแทนผู้มรณะแล้วดำเนินคดีต่อไป
  • ถ้าศาลเห็นว่า คำขอคัดค้านของบุคคลผู้ถูกหมายเรียกมีเหตุผลฟังได้ ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนหมายเรียกนั้นเสีย

 

ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถเรียกทายาทอันแท้จริง หรือผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกของผู้มรณะเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะได้ภายในกำหนดเวลา 1 ปี

= ให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 44 วรรคสี่

กฎหมายมิได้บัญญัติให้จำหน่ายคดีอย่างกรณีที่ไม่มีคำขอของผู้ที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนหรือคำขอของคู่ความที่ขอให้ออกหมายเรียกตามมาตรา 42 วรรคสอง แต่ให้เป็นดุลพินิจศาล

        

5. ผลของการเข้าเป็นคู่ความแทนคู่ความมรณะ

        ผู้เข้ามาเป็นคู่ความแทนคู่ความมรณะมีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาเพียงเท่าสิทธิของคู่ความผู้มรณะมีอยู่(ฎีกาที่ 982/2508) และไม่ทำให้ผู้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว (ฎีกาที่ 3508/2545 , ฎีกาที่ 2815/2554 , ฎีกาที่ 8977/2556)


หากต้องการปรึกษาทนายความ คลิก

หรือติดตามทนาย ผ่าน Facebook : ทนายแยม ชลิตา